^ Back to Top

ผลการตัดสินการประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ครั้งที่ 26 ประจำปี 2557

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนม์พรรษา ครบ 87พรรษา กลุ่มบริษัทโตชิบาประเทศไทยร่วมกับกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดโครงการประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ครั้งที่ 26 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้สังคมให้เป็นสุข และเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของกลุ่มบริษัทโตชิบา ประเทศไทย ในการพัฒนาวงการศิลปะของชาติให้มีการเปิดกว้างสู่ทุกกลุ่มชน และได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งเป็นการพัฒนาจิตใจ พัฒนาคน และความคิดสร้างสรรค์และเป็นกำลังในการพัฒนาชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ในปีนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศร่วมส่งผลงานเข้ามาประมาณ 1,070 ชิ้น ซึ่งเป็นผลงานจากทุกภาคของประเทศไทย ทำให้บรรยากาศตัดสินการประกวดเป็นไปอย่างเข้มข้นตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 – ป.3 จนถึง ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไปครั้งที่ 26 แต่ละระดับมีดังนี้ 

ระดับอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 3 
ด.ช. กฤตภาส เพชรานนท์ จากโรงเรียน ปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ผลงาน “แสงสุดท้าย”

ระดับอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 3

แนวความคิดของผลงานสื่อถึง การส่งใจไปถึงซึ่งญาติมิตร คงเศร้าจิตคิดอาลัยใจโศกศัลย์ หลังน้ำตาอาดูรสูญสัมพันธ์ ล้านรางวัลกำนัลไม่ยินดี ร่วมอาลัยดวงวิญญาณทหารกล้า พลีชีวามามอดม้วยด้วยหน้าที่ แม้นร่างกายสลายสินทั้งอินทรีย์ แต่ความดีนี้ยืนยงคงกระพัน สดุดีวีรบุรุษชุดนักรบ ชีวิตจบสิ้นไม่คิดฝัน มัจจุราชฆาตกรรมทำไมกัน ผิดมหันต์เรื่องดันใดไม่ปราณี จากนี้คงส่งวิญญาณทหารกล้า คลุมกายผ้าไตรรงค์คงศักดิ์ศรีสู่สวรรค์ชั้นฟ้าสุขาวดี เกริกเกียรตินี้ระบือก้องพี่น้องไทย

อาจารย์ธงชัย รักปทุม ประธานกรรมการตัดสินระดับเด็กได้ให้ความเห็นว่า ภาพทหาร – ขบวนแห่งศพและพระสงฆ์ เป็นภาพที่มีความสมบรูณ์ เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่เด็กในระดับนี้ มีความสามารถแสดงออกได้อย่างดี งามและลึกซึ้ง ได้เนื้อหาของบทบาท เนื้อเรื่องของความเป็นไปในภาคใต้ ที่มีการฆ่าฟัน ทหารสูญเสีย ข้าราชการถูกวางระเบิด ครูบาอาจารย์ เด็กเล็ก มีความวุ่นวายอยู่ในภาคใต้ เป็นแรมปีหลายปีที่ผ่านมายังไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นชีวิตพวกนี้จะกระทบต่อจิตใจเด็กเป็นอย่างมาก เมื่อสิ่งที่กระทบจิตใจเด็ก เด็กก็ต้องเอาเรื่องที่อยู่ในใจของเขานั้นออกมาแสดง ในเมื่อเขามีโอกาสแสดงออกทางด้านศิลปะ เขาก็แสดงออกทางด้านการเขียนภาพ ถ้าเขามีโอกาสแสดงออกทางกวี เขาก็แสดงออกทางด้านภาษา ถ้าเขามีโอกาสแสดงออกทางด้านเพลง ก็จะแสดงออกมาทางการร้องเพลง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ก็จะเป็นเนื้อหาที่ทำให้เขาโหยหวนและซึมเศร้า โศก อย่างลึกซึ้ง ในการที่อาจจะเป็นหนึ่งในชีวิตครอบครัวเขา ทำให้เด็กรู้สึกสะเทือนใจ แสดงออกมาในงานอย่างลึกซึ้ง

ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6
ด.ญ. กังศดาล โยธาธร จาก โรงเรียนบ้านห้วยไซงัว จังหวัดหนองคาย ผลงาน “ส่งใจแรงกาย สู่ชาวใต้”

ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6

แนวความคิดของผลงานสื่อถึงความคิดของศิลปินที่ว่า ภาพที่หนูเห็นในโทรทัศน์ทุกวัน ข่าวสถานการณ์ภาคใต้ โรงเรียนที่หนูเห็นและเพื่อนๆที่หนูเห็น หนูรู้สึกสงสารและขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆทุกคน

ดร.ผดุง พรมมูล หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินระดับเด็กได้ให้ความเห็นว่า ภาพนี้ใช้สีเทาแสดงถึงความหดหู่ เป็นความรู้สึกของเด็กผ่านภาพวาด แสดงถึงการเผาโรงเรียน ความสูญเสียของเด็กๆ ภายในภาพจะประกอบด้วยบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นครู พ่อ แม่ เพื่อน บุคคลในครอบครัวซึ่งล้วนแต่ร้องไห้ แสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และใช้ธงชาติไทยเป็นตัวเด่นเพื่อที่จะบอกว่าเกิดขึ้นที่ประเทศไทย และ อาจารย์ธงชัย รักปทุมประธานกรรมการตัดสินระดับเด็กได้ให้ความเห็นว่า เนื้อหาอยู่ในเหตุการณ์ของภาคใต้ แสดงออกถึงวิถีชีวิต แร้นแค้น ทุกข์โศก ยากไร้ที่อยู่ โรงเรียนถูกเผามอดไหม้ เป็นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ สงสาร ปรารถนาให้เป็นธรรมอย่างเต็มหัวใจ งานศิลปะ เป็นตัวชี้วัด ถึงจิตใจ จิตวิญญาณ รูปธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเช่นไรศิลปะการแสดงออกทางสี ความคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบศิลป์ เป็นคุณค่าแท้จริงของงานศิลปะ สะเทือนใจทุกครั้ง ความรู้สึกที่ใจคอหดหาย ความปราถนาที่แสดงออก สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของชุมชนนั้นๆศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ดนตรี สถาปัตยกรรม ประติมากรรม เป็นต้น ล้วนแสดงออกจากความเป็นจริง สะท้อนชีวิตตัวเอง ออกมาเต็มหัวใจ ได้กลั่นกรองมาจากหัวใจ สมอง อุดมการณ์ของแต่ละคนอย่างงดงาม

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3
ด.ช.ภาสวัชญ์ เลียมสวัสดิ์ จากโรงเรียนกรพิทักษ์ศึกษา กรุงเทพมหานคร ผลงาน “Pollution”

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3

แนวความคิดของผลงานสื่อถึง มลภาวะต่างๆ ขยะ สิ่งสกปรกจำนวนมาก เกิดจากการกระทำขงอมนุษย์เราเอง และมันส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในทางที่ไม่ดีมนุษย์เราควรที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ก่อนที่จะไม่สามาถแก้ไขได้

อาจารย์ธงชัย รักปทุม ประธานกรรมการตัดสินระดับเด็กได้ให้ความเห็นว่า ภาพจะออกเป็นสีโมโนโคเม แนวดำขาว ไม่ใช่คณะกรรมการจะชอบสีดำขาว สีของภาพที่ใช้สะท้อนสภาพความเป็นจริง เกิดความรู้สึกที่มากระทบใจเรา ภาพคนใส่หน้ากาก มีมลภาวะ หมอกควัน ความสกปรก ทำให้ชีวิตประสบเคราะห์กรรม มีโรคร้าย ต้องสวมหน้ากาก เห็นว่า เราสมควรที่จะต้องมาดูแลสภาพแวดล้อมมละภาวะให้ดีขึ้น ทั้งภาครัฐ ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นพื้นที่นั้นๆ จะต้องออกมาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องมาทำหน้ากากใช้กันเด็กได้ถ่ายทอด สิ่งต่างๆ แสดงออกมาเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้ที่เป็นผู้บริหารประเทศควรหันมาดูแล ต่างคนต่างเอาเปรียบกัน ควรให้นักการเมือง ที่มาสร้างความสกปรกให้กับภูมิประเทศ จัดการโดยคำนึงถึง ญาติพี่น้องของตนเอง นักการเมืองไม่ควรหาแต่ความสุขของตนเอง หารายได้ ทุจริต คอรัปชั่น เพื่อตัวเองเด็กๆสะท้อนออกมา บ่นออกมาแล้วนะ ให้ผู้ใหญ่ยุติบทบาทของการคอรับปชั่นได้ ควรเข้ามาดูแลสภาพแวดล้อม สภาพการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ ให้เป็นสุข มีอาหารกิจที่ถูกตามหลักโภชนาการงานชั้นนี้ ชนะเลิศ เป็นชิ้นงานที่สมควรได้รับรางวัลอย่างยิ่ง เด็กๆแสดงออกมาสะท้อนสภาพสังคมอย่างดี

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 และอาชีวศึกษา
นายอลงกรณ์ ยอดสุรางค์ จาก วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลงาน “อนาคตมรดกโลก”

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 และอาชีวศึกษา

แนวความคิดของผลงานสื่อถึง ศิลปินอยากให้ทุกคนเห็นมรดกของใต้ที่สวยและถูกซ้อนไว้ในด้ามขวานแห่งนี้ ผมเลือกทำพระธาตุในช่วงกลางคืน เพราะผมรู้สึกชอบแสงอรุณอร่ามสว่างกลางใจครับ

ดร.ผดุง พรมมูล หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินระดับเด็กได้ให้ความเห็นว่า ภาพนี้จะเป็นภาพของเด็กที่โตขึ้น งานจะดูมีความตื้น ลึก ดูมีมิติ ใช้ผ้าและวัสดุต่างๆมาประกอบภาพแสดงถึงความรุ่งเรื่องของศาสนาผ่านวัตถุต่างๆอย่างเช่นเจดีย์ก็ใช้ผ้าขาว ความรุ่งเรื่องใช้เม็ดเลิ่อมลูกปัด วิบวับ แสดงถึงความรุ่งเรืองและเป็นประกายอาจารย์ธงชัย รักปทุมประธานกรรมการตัดสินระดับเด็กได้ให้ความเห็นว่า รูปที่เห็น เป็นวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช มองเห็นหมู่เจดีย์ในวัดดูเป็นภาพขาวดำ ดำที่เป็นผ้าพื้นหลัง ผสมผสานสีที่มืดครึ้ม ผสมกับส่วนที่เป็นพื้นผิว ซึมซับความฝัน ตัดกับความขาวของพลังศาสนา เสน่ห์ของการแพรวพราว พริ้วไหว การกระจายแสงจากกระจก และผ้าเงินทองเป็นที่ที่น่าคิด ผนังแห่งความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จะเป็นเกิดขึ้นบ่อยๆ พลังแห่งความศรัทธาต่อพุทธศาสนา มีความศรัทธาอย่างลึกซึ้งและกินใจที่สุด เป็นชิ้นงานหนึ่งในหลายๆภาพที่คณะกรรมการคัดเลือกมาซึ่งแต่ละชิ้นก็ดี แต่ละภาพเป็นภาพที่มีคุณภาพ การตัดสินใจเป็นมติของเสียงข้างมากของกรรมการภาพนี้มีการแสดงออก สะท้อนจากชีวิตจริง ใช้ความแหลมคม อารมณ์ ความรู้สึก สะเทือนใจ จากบรรยากศของวัด ของคนในภาคใต้ ภาพแสดงออกมาอย่างลึกซึ้ง จึงสมควรได้รับรางวัลอย่างยิ่ง

ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป
นางสาว อชิรญา ขับกล่อมส่ง จากมหาวิทยาลัยศิลปกร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ผลงาน “ดุลยเทพแห่งชีวิต” ใช้เทคนิค ปูนปั้นและวัสดุ

ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป

แนวความคิดของผลงานสื่อถึง สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ มีสายใยแห่งความสัมพันธ์ที่ประสาน เกื้อกูล ถ้อยทีถ้อยอาศัย โอบอ้อมอารี พึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อคงสภาวะแห่งความสมดุลให้มีความเหมาะสมและพอดี โดยผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลายต่างมีเหตุและผลนำไปสู่การหมุนเวียนเสมือนวัฏจักรแห่งชีวิต โดยข้าพเจ้าได้นำเสนอผ่านเทคนิคปูนปั้นและวัสดุ ผ่านการคัดสรร ปรุงแต่งด้วยจินตนาการ เป็นการปั้นเสริมเติมแต่งสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อแสดงออกถึง “มิตรภาพ” อันงดงามของสรรพชีวิตที่นับวันมีแต่ละเพิ่มพูนทวีสร้างความน่าอยู่เคียงคู่ผืนดินและผืนน้ำตราบนานเท่านาน

ศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลินศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ หนึ่งในกรรมการตัดสินระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป กล่าวถึงผลงานยอดเยี่ยมชิ้นนี้ว่า เพราะมีความโดดเด่นเป็นเอกภาพ มีความหมายที่สื่อเรื่องความเป็นไปของธรรมชาติได้ชัดเจน ในเรื่องของรูปแบบที่น่าสนใจ มีความหลากหลาย มีความเป็นไปของธรรมชาติที่เอื้ออาทรกันที่อยู่ ร่วมกันโดดเด่นกว่าชิ้นอื่น ใช้วัสดุปูนปั้นมีเทคนิคฝีมือของคนปั้นเหลืออยู่ มีการนำมาแปะ ติดเชื่อมกันหลายชิ้นมาประกอบกันเกิดเรื่องราว ถึงจะเป็นวัสดุโบราณ แต่นำมาสร้างสรรในรูปแบบใหม่ สื่อความหมายนำสิ่งที่ดีสู่ชิวิต

 

ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินอีกท่าน ได้ให้ความเห็นว่า งานประติมากรรมชุดนี้ และแนวคิดงานพูดถึงการสร้างโลกในจินตนาการหรือป่า หรือธรรมชาติ ที่เค้าฝัน เหมือนแดนหิมพานต์ก็ได้ และเค้าก็สร้างสิงสาราสัตว์ขึ้นมา ในจินตนาการเค้า เหมือนเทพนิยาย ด้วยวิธีการใช้วัสดุที่ทำขึ้นมาเองเอาดิน เอาปูนมาผสมกระดาษ ตำ วิธีการปั้นตรงนี้เป็นการประดิษฐ์ประดอยที่เค้าทำได้ดีในบุคลิกของเค้า มีความเฉิ่มๆ นิดหน่อย การประกอบรูป การประกอบสร้างรูปทรง การติดวัสดุมันเป็นการเรียบง่าย ซื่อๆ ที่เรียกว่าเป็นบุคลิกเด่นของเค้า เพื่อจะสร้างดินแดนสักแห่งที่เค้าสมมติขึ้นมา เป็นโลกแห่งความฝันที่เค้าอยากจะเป็น

 

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับประเทศเป็นผู้คัดเลือกอาทิเช่น อ.สังคม ทองมี,อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ศ.ปรีชา เถาทอง,และผ.ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ เป็นต้น บริษัทฯ ตระหนักอยู่เสมอถึงการเป็นหน้าที่ของการเป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยได้ดำเนินการจัดประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” มาอย่างต่อเนื่องครบรอบปีที่ 26 ภายใต้ปรัชญาของการ “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต”

นิทรรศการ ศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ครั้งที่ 26จัดแสดงตลอดเดือนพฤศจิกายน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า (หยุดทุกวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) โดยในงานจะมีการจัดแสดงผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมรวมกว่า 200 ชิ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด โทร. 02–511–7710–12

ข่าวประชาสัมพันธ์ : K. Sirimes Kleebkaew 
Strategic CSR Executive – Executive Office Department
Toshiba Thailand Co., Ltd.

Toshiba

File attachments: 

Members Online

There are currently 0 users online.